ฟ้อนเล็บ
Art Terrence Horton  

ฟ้อนเล็บ งดงาม ประณีตตามแบบฉบับชาวเหนือ

ชาวเหนือ เป็นผู้ที่มีภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มาก อย่างเช่น การอู้คำเมืองที่ไพเราะด้วยน้ำเสียงและการพูดที่เนิบช้าทำให้น่าฟังอย่างมาก และด้วยอุปนิสัยเช่นนี้ก็ส่งผลไปถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การทานข้าวแบบขันโตกที่ค่อยๆปั้นข้าวเหนียวอย่างพอดี ทานแบบช้าๆหรือว่าจะเป็นการฟ้อนเล็บที่สวยงามประณีต และวันนี้เราจะมาพูดถึงการฟ้อนเล็บ ศิลปะการแสดงของคนไทยภาคเหนือกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

            ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนของคนภาคเหนือ คล้ายการฟ้อนเทียนแต่ว่าเวลารำไม่ต้องถือเทียนโดยคนที่ฟ้อนจะต้องสวมเล็บยาวโลหะทุกนิ้วเว้นนิ้วหัวแม่มือ และจะฟ้อนในตอนกลางวัน ใช้ผู้แสดงจำนวนมาก และมีรูปแบบการฟ้อนอยู่ 2 รูปแบบคือ แบบพื้นเมือง เรียกว่า ฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง

ใช้วงดนตรีพื้นเมือง หรือวงปี่พาทย์ในการทำการแสดง ผู้แสดงแต่งกายตามแบบกุลสตรีชาวเหนือนุ่งซิ่น ถ้าเป็นแบบแผนของคุ้มเจ้าหลวงผู้แสดงต้องสวมกำไลเท้า การฟ้อนเล็บเป็นการฟ้อนบวงสรวงหรือฟ้อนต้อนรับตามประเพณีในช่วงเวลากลางวัน ใช้เวลาในการแสดงประมาณ 10 นาที (มีบทร้อง) 5-8 นาที (ไม่มีบทร้อง) ส่วนใหญ่จะแสดงในแบบฟ้อนเมืองมากที่สุด โดยแบบคุ้มเจ้าหลวงไม่ค่อยมีให้เห็น

 ฟ้อนเทียน ผู้ฟ้อนถือเทียนจุดไฟมือละเล่มทั้งสองมือ มักฟ้อนในเวลากลางคืน ใช้ผู้แสดงจำนวนมาก เพื่อเน้นแสงเทียนให้ดูสวยงาม ในอดีตเป็นการฟ้อนสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีสำคัญในคุ้มเจ้าหลวง รูปแบบการฟ้อนที่เป็นมาตรฐานสืบทอด อยู่ในเครือสถานศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และกรมศิลปากร โดยเป็นแบบแผนที่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงให้ครูฟ้อนในคุ้มปรับปรุงรูปแบบและได้รับการปรับปรุงและถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ใช้วงดนตรีพื้นเมืองหรือวงปี่พาทย์ และบทร้องเป็นบทพระนิพนธ์ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีต่อมาภายหลัง นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ เริ่มจากบทเกริ่นทำนองโยนก ซอยิ้นและจ้อยเชียงแสน และในปัจจุบัน นิยมแสดงเพียงทำนองซอยิ้นเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ศิลปะการแสดงที่ได้รับการสืบทอดมากจากบรรพบุรุษ ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่  และได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่า ไม่มีวันหายไปอย่างแน่นอน เพราะเราเองก็ยังเห็นการแสดงฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนนี้อยู่ตลอดเวลา และบางสถานศึกษาก็มีการจัดการเรียนการสอนอันเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป และที่สำคัญยังช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่สวยงามของไทยอีกด้วย