รำมโนราห์
Blog Terrence Horton  

รำมโนราห์ ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ตราตรึงใจไปทั่วโลก

มโนราห์ หรือ มโนห์รา คำนี้เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นการนำเอาเรื่องพระสุธน มโนราห์มาแสดงเป็นละครชาตรี ส่วนต้นกำเนิดของมโนราห์นั้นมาจากการร่ายรำของอินเดียก่อนสมัยศรีวิชัยและเริ่มมีมโนราห์ในสมัยสุโขทัยตอนต้น โดยการรำมโนราห์นี้คือ การร่ายรำของภาคใต้ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาช้านาน และยังคงมีการแสดงอยู่ในปัจจุบัน โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงประวัติของโนราห์กัน

            สำหรับเครื่องแต่งกายของการรำมโนราห์ คือ เทริด เป็นเครื่องสวมศีรษะของนายโรงหรือตัวยืนเครื่อง เครื่องลูกปัดที่มีลูกปัดมีลายดอกดวงใช้สวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ และยังมีปั้นเหน่ง ทับทรวงปีก สนับเพลาผ้าห้อยหน้า ผ้านุ่ง ผ้าห้อยข้าง รวมถึงกำไลต้นแขน ปลายแขนและเล็บ ทั้งหมดนี้คือเครื่องประดับของตัวยืนเครื่อง แต่ถ้าเป็นเครื่องนาง จะไม่มีกำไลและปีกนกแอ่น เครื่องดนตรีของการรำมโนราห์จะเป็นเครื่องตีให้จังหวะ ประกอบด้วยทับ มี 2 ใบ เป็นเครื่องตีหลักเพราะว่าเป็นตัวคุมจังหวะและเป็นตัวนำในการเปลี่ยนทำนองของผู้รำ และยังมีกลอง ปี่ โหม่ง ฆ้องคู่ ฉิ่ง  แตระ มาช่วยเสริมจังหวะ

            โดยการแสดงโนราห์จะมี 2 รูปแบบ คือ โนราที่ใช้รำประกอบพิธีกรรมและโนราที่รำเพื่อความบันเทิง โดยโนราที่ประกอบพิธีกรรมใช้ในการเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธีเพื่อไหว้ครูและรับของแก้บน รวมทั้งครอบเทริดให้กับโนรารุ่นใหม่ ส่วนโนราเพื่อความบันเทิง จะมีอยู่ 5 แบบคือ 1.การรำอวดความชำนาญ  คือ การผสมท่ารำเข้าด้วยกัน รำอย่างต่อเนื่อง ถูกต้องตามแบบฉบับ2.โนราแต่ละตัวจะต้องอวดการขับกลอนในรูปแบบต่างๆ เสียงต้องเพราะ จังหวะการร้องต้องเร้าใจ คิดกลอนได้เร็ว 3.การทำบท หรือการตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำต่างๆ ทำให้คำร้องและท่ารำมีความสัมพันธ์กัน4. โนราแต่ละตัวต้องฝึกท่ารำเฉพาะอย่างด้วย โดยอาจรำเฉพาะในพิธีไหว้ครู พอกผูกผ้าใหญ่หรือรำตอนประชันโรง และแบบสุดท้าย คือ การเล่นเป็นเรื่อง ปกติแล้วไม่ค่อยเล่นเท่าไร นอกจากมีเวลาเหลือ ไม่เน้นแต่งตัวแต่จะเน้นไปในทางตลกมากกว่า และยังคงเอกลักษณ์การขับกลอนแบบโนราห์อยู่นั่นเอง

            ทั้งหมดนี้ คือ ศิลปะการแสดงมโนราห์ อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ที่มีมาช้านานแล้วและในปัจจุบันนี้ยังมีการแสดงให้เห็นอยู่ และแม้จะอยู่ในยุคสมัยใหม่แล้ว แต่การรำมโนราห์ยังคงความเข้มขลังและสืบต่อวัฒนธรรมตามขั้นตอนทุกอย่าง และยังมีการผลิตโนราห์รุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อสืบต่อวัฒนธรรมและการแสดงต่อไป